ตำนานพระนางจามเทวีกับการสร้างบ้านแปลงเมืองหริภุญไชย

***บทความฉบับนี้เขียนขึ้น ปี พ.ศ.2554 ในขณะที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ในสาขาประวัติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เนื้อหาและข้อมูลอาจมีการตกหล่นและผิดพลาด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย**



*
บทนำ
             แผ่นดินไทยเมื่อหลายร้อยปี ก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย แคว้นบริเวณทางภาคเหนือของไทยมีการสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างมากมาย ล้วนแล้วแต่มีการปกครองโดยเป็นอิสระต่อกัน อาณาจักรหริภุญไชยเป็นอาณาจักรหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยได้รับแบบอย่างวัฒนธรรมทวารวดีจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางที่มีระเบียบแบบแผน ทั้งการปกครองศาสนา ศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองในด้านการค้า เศรษฐกิจ ประชาชนศรัทธาพุทธศาสนา   มีกษัตริย์ปกครองพระองค์แรกคือ พระนางจามเทวี ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างบ้านแปลงเมืองในเอกสารต่างๆ เรื่องราวของนครหริภุญไชยนั้นปรากฏในพงศาวดารทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงชินกาลมาลีปกรณ์ด้วยเช่นกัน หริภุญไชยแสดงถึงการสร้างบ้านแปลงเมืองตามคติพุทธศาสนา[1] ความเลื่อมในทางพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมในช่วงนั้น เราจะเห็นได้จากการที่พุทธศาสนาได้รับการยอมรับเหนือวัฒนธรรมท้องถิ่น ดั่งที่ฤาษีวาสุเทพสร้างเมือง     หริภุญไชยโดยที่ไม่ให้ชนพื้นเมืองเป็นกษัตริย์แต่กลับไปอัญเชิญราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงลวปุระหรือละโว้มาเป็นกษัตริย์[2] ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับเมืองหริภุญไชย คือ การมีปฐมกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์เป็นผู้หญิง


ตำนานพระนางจามเทวี
             หริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน ปรากฏหลักฐานในตำนานหรือเอกสารโบราณ เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนาหรือพงศาวดารโยนก  ว่าเป็นเมืองที่นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่13 เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่17 มีสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและรูปเคารพโดยสันนิฐานว่าพุทธศาสนาในเมืองหริภุญไชยมีทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน[3] ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาพุทธนั่นเอง
             ก่อนเกิดรัฐหริภุญไชยบริเวณนี้มีกลุ่มชนพื้นเมือง ซึ่งเรียกว่า ลัวะ หรือละว้า ตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นหมู่บ้าน       มีลักษณะเป็นสังคมชนเผ่า ยังไม่ได้สร้างเมืองหรือรัฐ ตำนานล้านนากล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ และเรียงรายลงมาทางแม่น้ำปิงจากเชียงใหม่ถึงลำพูน ชาวลัวะนับถือดอยสุเทพในฐานะที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สองสถิตของปู่แสะย่าแสะ และเชื่อกันอีกว่าฤาษีวาสุเทพเป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะสอดคล้องกับตำนานมูลศาสนาที่กล่าวถึงฤาษีวาสุเทพที่อาศัยอยู่บริเวณอุจฉุบรรพหรือดอยอ้อย ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อดอยตามชื่อของท่าน[4] ฤาษีวาสุเทพผู้นี้ที่เป็นคนสร้างนครหริภุญไชย นอกจากนี้การขึ้นมาครองเมืองของพระนางจามเทวียังทำให้หัวหน้าเผ่าลัวะเกิดความไม่พอใจ  เพราะถูกชนที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าเข้ามาแทรกแซง 
             ในตำนานพระนางจามเทวีระบุว่า พระองค์ ทรงมีสติปัญญาฉลาดรู้ สรรพกิจขัตติยะราชประเพณี มีมรรยาทและพระอัธยาศัยเสงี่ยมงามพร้อม และมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี ตามตำนานยังกล่าวต่ออีกว่าเมื่อครั้ง พระนางจามเทวีเจริญพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ใกล้จะรุ่นสาว ได้สำเร็จซึ่งวิชาการทั้งหลายเป็นการบริบูรณ์แล้ว ท่านฤาษีวาสุเทพจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อ พระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น   ท่านฤาษีวาสุเทพจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนืออีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงลวปุระ พระเจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันที [5] โดยให้เหล่านายทหารช่วยกันชะลอแพแต่ไม่สามารถทำได้พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้น ไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์และแพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร[6] พระบารมีของพระนางจามเทวีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นครองเมืองหริภุญไชยเสียด้วยซ้ำ

กำเนิดเมืองหริภุญไชย
          ศักราชการสร้างเมืองหริภุญไชย(ตามหลักฐานทางจีนเรียกรัฐนี้ว่า หนีวังก๊ก) มีผู้รู้ให้ความคิดเห็นที่ต่างกัน โดยศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ให้ความเห็นว่า เมืองหริภุญไชยควรสร้างราว พ.ศ.1310-1311 โดยใช้หลักฐานตำนานเมืองลำพูน แต่ตำนานจามเทวีวงศ์ ระบุว่าเวลาสร้างเมืองนั้นตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล พ.ศ. 1198 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี สัณฐานนครเมื่อแรกสร้างมีปริมณฑลโดยรอบได้ 2250 วา หรือ 127 เส้นกับ 10 วา [7] ข้อสันนิฐานในเรื่องของระยะเวลาในการสร้างเมืองยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีในยุคนั้นมีจำกัดด้วย สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดเมืองหริภุญไชยมีสองประการ ปัจจัยภายในท้องถิ่นและปัจจัยภายนอก ทั้งด้านกายภาพเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์[8] สำหรับประเด็นในการก่อตั้งอาณาจักรหริภุญไชยนั้น สรุปข้อเสนอเป็นสองแนวทางด้วยกันคือ

1.   หริภุญไชยนั้นเริ่มก่อตั้งโดยชาวมอญ ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมอญทวารวดี นำโดยพระนางจามเทวีและข้าราชบริพารต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เอาพุทธศาสนานิกายเถรวาท วัฒนธรรม ตลอดจนความรู้ด้านเทคโนโลยีของมอญมาสู่ลำพูน หมายถึงการก่อตั้งอาณาจักรหริภุญไชยได้รับการก่อตั้งโดยคนต่างแดน โดยการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้ามาครอบคลุมชนชาติเดิม นักวิชาการจึงสรุปว่าหริภุญไชยเป็นเมืองของอาณาจักรมอญ
2.    หริภุญไชยเป็นบ้านเมืองที่พัฒนามาโดยชนพื้นเมืองเดิม คือลัวะที่ได้รับ วัฒนธรรมมาจากภายนอก ตามตำนานกล่าวว่าพระนางจามเทวีเป็นลัวะ เป็นลูกสาวของฤาษี บ้างก็ว่าพระนางเป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้ แต่ในตำนานพื้นบ้านของชาวบ้านหนองดู่ยืนยันว่าพระนางเป็นลูกเศรษฐีนายบ้านหนองดู่[9]
             ไม่ว่าผู้นำทางวัฒนธรรมจะเป็นใคร ชนพื้นถิ่นหรือชนต่างชาติ นักวิชาการต่างมีความเห็นพ้องกันว่าพัฒนาการของอาณาจักรหริภุญไชยเป็นผลจากการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติที่ขยายตัวขึ้นมาจากดินแดนสุวรรณภูมิเข้ามาในดินแดนแห่งนี้  ประวัติศาสตร์ของนครหริภุญไชยในช่วงต้นเป็นเรื่องราวของการสถาปนาอำนาจของผู้ปกครองที่ได้รับวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้การวางรากฐานอำนาจและสิทธิธรรมในการปกครองโดยการใช้พุทธศาสนามาเป็นฐานสนับสนุนการปกครองของตนนั่นเอง
             เมื่อการสร้างเมืองหริภุญไชยสำเร็จลุล่วงแล้ว พระนางจามเทวีเสด็จลงมาครองนครโดยการเดินทางจากเมืองละโว้สู่หริภุญไชยนั้น เอกสารบางแห่งบอกว่ามาทางเรือ คือล่องตามลำน้ำพิงค์ขึ้นมา แต่เอกสารบางแห่งบอกว่าเดินเท้ามา ทั้งนี้อาจสันนิฐานได้ว่าขบวนที่ว่านี้ไม่ใช่ขบวนเล็กๆ การใช้เรือมาลำพูนคงไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้น การเดินทางทางบกน่าจะง่ายกว่า แต่ที่น่าสนใจนั้นคือ เกิดเรื่องราวของนิทานที่บอกเล่าต่อกันมา โดยเฉพาะเกิดชื่อสถานที่ต่างๆมากมาย[10] แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนานของนิทานสามารถที่ใช้นำมาใช้เป็นความรู้เพิ่มเติมได้ในการศึกษาถึงเส้นทางการเดินทางสู่หริภุญไชยของพระนางจามเทวี
             พระนางจามเทวีมาพร้อมกับบริวารในลักษณะนำพาความเจริญเข้ามา เพราะบริวารที่พระนางนำมาคือผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปวิทยาแขนงต่างๆ เช่น พระภิกษุ นักปราชญ์และช่างหลายด้าน[11] วันที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย พุทธศักราช 1202 พระชนมายุได้ 26 พรรษา และเมื่อครองราชย์แล้ว 7 วัน พระนางจามเทวีก็ได้ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ พระราชกุมารทั้งคู่ทรงศิริลักษณ์งามละม้ายกัน เป็นที่ปิติยินดีไปทั่วพระนคร ทรงพระนามว่า พระมหันตยศและ พระอนัตยศ[12]  กล่าวกันว่าการปกครองบ้านเมืองของพระนางจามเทวีในนครหริภุญไชยของพระนางที่มาพรั่งพร้อมทั้งวิทยาการและองค์ความรู้ทำให้เมืองลำพูนพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นบ้านเมืองสุขสมบูรณ์
             พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่นครหริภุญไชยมากขึ้นอาณาประชาราษฎร์ เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วนหน้า มีพระสงฆ์ที่ลงมาจากเมืองละโว้มากมายมาสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนาเกิดวัดมากมาย ที่มีภิกษุจำพรรษาเต็มทุกพระอารามในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าพระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ทรงเอาพระทัยใส่ในการ ศาสนาเพียงเท่านั้น ในด้านยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร พระองค์ก็โปรดฯ ให้สร้างด่านไว้ที่ชายแดนที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว นอกจากนี้ก็โปรดฯให้จัดการซ้อมรบเพื่อทดสอบความพรั่งพร้อมของกำลังพลอยู่ เสมอ
              พระนางจามเทวีทรงปกครองเมืองหริภุญไชยด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงสั่งสอนบรรดาเสนาข้าราชสำนัก ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายให้ยึดมั่นในทางธรรมเสมอ นครหริภุญไชยจึงเป็นแดนดินที่สงบสุข เจริญรุ่งเรือง ไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นด้วยกลิ่นไอแห่งพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระนางจามเทวีได้โปรดฯให้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่มากมาย อาทิ วัดอรัญญิกกรัมการาม วัดอาพัทธาราม วัดมหาวนาราม วัดมหารัดาราม ฯลฯ ภายหลังพระนางจามเทวีได้สละราชสมบัติ ให้แก่พระเจ้ามหันตยศครองเมืองแทน กระทั่งพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 60 พรรษา ได้ทรงสละเพศฆราวาสฉลองพระองค์ขาวเสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมาย ซึ่งนอกจากการสร้างบ้านแปลงเมืองหริภุญไชยของพระนางจามเทวีแล้วนั้นพระนางยังทรงสร้างเมืองเขลางนครหรือลำปางขึ้น เพื่อให้พระโอรสอีกพระองค์ของพระนางคือ พระอนันตยศกุมารเป็นผู้ปกครองอีกด้วย พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต เมื่อวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 1294 รวมพระชันษาได้ 98 ปี สิ้นพระชนม์ไปขณะทรงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั่นเอง พระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์พระศพเป็นพัสตราภรณ์แห่งกษัตริย์หริภุญไชเป็น ครั้งสุดท้าย ท่ามกลางความโศกสลดของทวยราษฎร์ พระศพพระนางจามเทวีได้มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดจามเทวี 2 ปี ก่อนที่จะประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงเมื่อวันแรม 2 ค่ำ เดือน  6 ปีวอก พ.ศ.1276 จากนั้นได้ก่อเจดีย์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐธิธาตุ มีนามว่า สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนครหริภิญไชต่อมาจนทุกวันนี้[13]
             นครหริภุญไชยรุ่งเรืองมาตั้งแต่พ.ศ.1206 มีกษัตริย์ครองเมืองสืบมา 49 องค์ จนเสียเมืองแก่พ่อขุนมังราย     เมื่อราว1824 รวมระยะเวลา 618 ปีในความเจริญรุ่งเรืองจะเห็นได้ว่าการสร้างบ้านแปลงเมืองในช่วงแรกของพระนางจามเทวีนั้นจะต้องต่อสู้กับชนพื้นเมืองเดิมเพื่อให้คนเหล่านี้ยอมรับวัฒนธรรมที่ตนนำมาเผยแพร่ รวมถึงตำนานพระนางของพระนางที่ปรากฏในเอกสารทางภาคเหนือ และตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางสู่นครหริภุญไชยของยังเป็นหลักฐานอย่างดีในการศึกษาถึงพัฒนาการของเมืองเพื่อเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น และในปัจจุบันชาวลำพูนได้หยิบยกเอาตำนานของพระนางมาสร้างเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นทำให้เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเมืองของตนที่มีความต่อเนื่องมายาวนาน



[1]รัตนาพร เศรษฐกุล. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2552), 14
[2]เรื่องเดียวกัน.
[3] โขมศรี แสนจิตต์. การศึกษาเมืองโบราณหริภุญไชยจากหลักฐานทางโบราณคดี. ดำรงวิชาการ. 9(1) : ม.ค.-มิ.ย. 2553. 33-50
[4]สรัสวดี อ๋องสกุล,ศาสตราจารย์.  ประวัติศาสตร์ล้านนา. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2551). 69
    http://blog.eduzones.com/tambralinga/3774. (วันที่ค้นข้อมูล 26 กรกฎาคม 2554)
[6] เพิ่งอ้าง.
[7] เพิ่งอ้าง.
[8] อ้างแล้ว. 71
[9] อ้างแล้ว.70
[10] ภาสกร วงศ์ตาวัน. บ้านเมืองที่สาบสูญ. (กรุงเทพฯ : สยามบันเทิง). 51
[11]  สรัสวดี อ๋องสกุล,ศาสตราจารย์.  ประวัติศาสตร์ล้านนา. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2551).72
[12]พระนางจามเทวี วีรสตรีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย.(ออนไลน). เข้าถึงได้จาก
      http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=794.0. (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2554)
      http://blog.eduzones.com/tambralinga/3774. (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2554)  

ความคิดเห็น